วันศุกร์ที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

วิธีการวิจารณ์งานวิจัย

พิจารณาไปตามส่วนประกอบในรายงานวิจัย ดังนี้

๑. หัวข้อเรื่องการวิจัย พิจารณาในเรื่องต่อไปนี้
    ๑.๑ มีความชัดเจนและรัดกุมเพียงใด
    ๑.๒ ระบุตัวแปรอิสระและตัวแปรตามหรือไม่
    ๑.๓ ระบุกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยหรือไม่
    ๑.๔ บอกขอบเขตของการวิจัยหรือไม่
    ๑.๕ บอกแนวทางหรือแบบการวิจัยหรือไม่
    ๑.๖ สามารถหาคำตอบด้วยวิธีการวิจัยได้หรือไม่
๒. ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา รายงานการวิจัยบางฉบับใช้คำว่า ภูมิหลัง หลักการและเหตุผล หรือบทนำ ทั้งหมดนี้ล้วนมีความหมาย เดียวกันทั้งสิ้นพิจารณาในเรื่องต่อไปนี้
    ๒.๑ ความเป็นมาของปัญหาชัดเจนเพียงใด
    ๒.๒ เสนอแนวคิดให้เห็นว่าปัญหาที่เกิดขึ้นควรศึกษา เพราะเหตุใด และก่อให้เกิดประโยชน์หรือไม่ อย่างไร
    ๒.๓ เสนอให้ทราบว่าการศึกษาปัญหานั้น มุ่งศึกษาหรือแก้ปัญหาในประเด็นใด ชัดเจนเพียงใด
    ๒.๔ เสนอให้ทราบว่าสิ่งที่เป็นปัญหานั้น เกิดขึ้นตามสภาวะหรือสภาพที่เป็นจริงในปัจจุบันหรือไม่ อย่างไร และมีความทันสมัยแค่ไหน
    ๒.๕ เสนอให้ทราบว่าการศึกษาตัวแปรของปัญหา นั้น ๆ อาศัยทฤษฎีหรือหลักการใด ๆ หรือไม่ อย่างไร
    ๒.๖ การบรรยายรายละเอียดของปัญหา ได้เสนอไว้อย่างมีระบบตามความสัมพันธ์ของสิ่งที่เกี่ยวข้อง หรือไม่ อย่างไร




๓. วัตถุประสงค์ของการวิจัย พิจารณาในเรื่องต่อไปนี้
    ๓.๑ มีความสอดคล้องกับหัวข้อเรื่องการวิจัยหรือไม่
    ๓.๒ บอกเป้าหมายของการวิจัยได้ชัดเจน เพียงใด
    ๓.๓ บอกแนวทางในการดำเนินการวิจัย หรือไม่

๔. สมมติฐานของการวิจัย พิจารณาในเรื่องต่อไปนี้
    ๔.๑ มีความสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการวิจัยหรือไม่
    ๔.๒ มีความสมเหตุสมผลตามทฤษฎี หลักการและข้อเท็จจริงเพียงใด
    ๔.๓ สามารถอธิบายหรือตอบคำถามปัญหาการวิจัยได้ครบถ้วนหรือไม่ และอยู่ในรูปแบบที่จะลงข้อสรุปว่าจะสนับสนุนหรือคัดค้านได้หรือไม่
    ๔.๔ สามารถทำการทดสอบทางสถิติได้ หรือไม่
    ๔.๕ ตั้งขึ้นอยู่ในรูปแบบสมมติฐานอื่น (H1 : Alternative Hypothesis) หรือไม่

๕. ขอบเขตของการวิจัย พิจารณาในเรื่องต่อไปนี้
    ๕.๑ มีขอบเขตเพียงพอที่จะพิจารณาตัวแปรต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้องและทั่วถึงเพียงใด
    ๕.๒ ระบุขอบเขตไว้ชัดเจนเพียงใด

๖. คำจำกัดความที่ใช้ในการวิจัย พิจารณาในเรื่องต่อไปนี้
    ๖.๑ ให้คำจำกัดความของตัวแปรและคำศัพท์อื่นๆ ที่ใช้ในการวิจัยไว้ชัดเจนเพียงใด และอยู่ในรูปนิยามเชิงปฏิบัติการหรือไม่
    ๖.๒ คำจำกัดความดังกล่าวมีเหตุผล และหลักฐานอ้างอิงที่เชื่อถือได้หรือไม่
    ๖.๓ การใช้คำจำกัดความดังกล่าวในรายงานการวิจัยมีความคงเส้นคงวาเพียงใด

๗. ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ พิจารณาในเรื่องต่อไปนี้
    ๗.๑ มีคุณค่าและมีประเด็นที่สำคัญเพียงพอที่จะสนองความต้องการของหน่วยงานและสังคมเพียงใด
    ๗.๒ มีคุณค่าในด้านทฤษฎี ด้านปฏิบัติการ และด้านการบริหาร มากน้อยเพียงใด

๘. การทบทวนเอกสารและวรรณคดีที่เกี่ยวข้อง พิจารณาในเรื่องต่อไปนี้
    ๘.๑ เสนอทฤษฎีและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับ ตัวแปรที่ต้องการศึกษาได้ครบถ้วนหรือไม่
    ๘.๒ เสนอกรอบทฤษฎีที่มีความเหมาะสมกับปัญหาการวิจัยหรือไม่
    ๘.๓ งานวิจัยที่เกี่ยวข้องมีความทันสมัยเพียงใด
    ๘.๔ เสนอในลักษณะนำทฤษฎีหรือข้อมูลต่าง ๆ และงานวิจัยที่เกี่ยวข้องมาเชื่อมโยงปัญหา เพื่อให้ผู้อ่านมองเห็นความสัมพันธ์หรือไม่
    ๘.๕ เสนอในลักษณะของการจัดหมวดหมู่ความเกี่ยวข้องให้เห็นถึงความขัดแย้ง และความสอดคล้อง โดยมีตัวแปรที่ศึกษาเป็นหลักหรือไม่

๙. การออกแบบการวิจัย พิจารณาในเรื่องต่อไปนี้
    ๙.๑ มีความเหมาะสมกับดำเนินการวิจัยหรือไม่
    ๙.๒ สามารถควบคุมตัวแปรทุกตัว อย่างที่ควรจะเป็นหรือไม่ กล่าวคือ
          - ทำให้เกิดความแปรปรวนของตัวแปรตาม อันเนื่องมาจากตัวแปรอิสระให้มีค่าสูงสุด (Maximization of systematic variance : MAX)
          - ทำให้เกิดความแปรปรวนของตัวแปรตาม อันเนื่องมาจากความคลาดเคลื่อนต่าง ๆ มีค่า ต่ำสุด (Minimization of error variance : MIN)
          - ควบคุมความแปรปรวน อันเกิดจากตัวแปรแทรกซ้อนและตัวแปรเกินที่จะส่งผลต่อ ตัวแปรตาม ( Control extraneous systematic             variance : CON)
    ๙.๓ มีความเที่ยงตรงภายในหรือไม่ กล่าวคือ ผลการวิจัยที่ได้เกิดจากการกระทำของตัวแปรอิสระที่ศึกษา ไม่มีตัวแปรหรือเหตุการณ์อื่นแทรกซ้อนเข้ามา
    ๙.๔ มีความเที่ยงตรงภายนอกหรือไม่ กล่าวคือ ผลสรุปจากการวิจัยมีความเชื่อถือได้ สามารถอ้างอิงไปสู่ประชากรได้ ใช่หรือไม่

๑๐. ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง พิจารณาในเรื่อง ต่อไปนี้
    ๑๐.๑ มีการกำหนดขอบข่ายของประชากรที่ศึกษาหรือไม่ และชัดเจนเพียงใด
    ๑๐.๒ กลุ่มตัวอย่างที่ศึกษาเป็นตัวแทนประชา-กรได้ดีเพียงไร
    ๑๐.๓ เทคนิคการเลือกกลุ่มตัวอย่างเหมาะสม สอดคล้องกับลักษณะของประชากรที่ศึกษาหรือไม่ การอธิบายวิธีการเลือกกลุ่มตัวอย่างชัดเจนเพียงใด
    ๑๐.๔ ขนาดของกลุ่มตัวอย่างมีจำนวนมากพอที่จะเป็นตัวแทนได้หรือไม่

๑๑. เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย พิจารณาในเรื่อง ต่อไปนี้
    ๑๑.๑ มีความเหมาะสมกับข้อมูลที่ต้องการเก็บรวบรวมหรือไม่
    ๑๑.๒ มีคุณภาพเพียงใด กล่าวคือมีความเที่ยงตรง และมีความเชื่อมั่นมากน้อยเพียงใด
    ๑๑.๓ มีระบบการให้คะแนนและการแปลความหมายคะแนนอย่างไร
    ๑๑.๔ เป็นเครื่องมือที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นเอง หรือ ดัดแปลง พัฒนามาจากของผู้อื่น ในกรณีที่ดัดแปลง พัฒนามาจากของผู้อื่น หรือจากเครื่องมือที่ใช้ใน ต่างประเทศ ได้มีการตรวจสอบคุณภาพใหม่ หรือพิจารณาความเหมาะสมในแง่ระดับความรู้ อายุของกลุ่มตัวอย่างที่ทำการศึกษาหรือไม่
    ๑๑.๕ การตรวจสอบความเที่ยงตรง และการหาความเชื่อมั่นของเครื่องมือ ใช้วิธีการที่เหมาะสมกับชนิดของเครื่องมือนั้น ๆ หรือไม่ และวิธีการอธิบาย เป็นขั้นตอน มีความชัดเจนเพียงใด

๑๒. การเก็บรวบรวมข้อมูล พิจารณาในเรื่องต่อไปนี้
    ๑๒.๑ มีความสอดคล้องกับแบบการวิจัยหรือไม่
    ๑๒.๒ มีการกำหนดวิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลไว้ชัดเจนเพียงใด
    ๑๒.๓ มีการจัดแยกประเภทข้อมูลเพื่อสะดวกต่อการนำไปวิเคราะห์ทางสถิติต่อไปหรือไม่
    ๑๒.๔ ขั้นตอนในการเก็บรวบรวมข้อมูลมีความรอบคอบ ระมัดระวัง ป้องกันการผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้นหรือไม่

๑๓. การวิเคราะห์ข้อมูล พิจารณาในเรื่องต่อไปนี้
    ๑๓.๑ ข้อมูลมีจำนวนเพียงพอที่จะใช้วิธีการทางสถิติแต่ละชนิดในการทดสอบสมมติฐานหรือไม่
    ๑๓.๒ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลมีความสอดคล้องกับวัตถุประสงค์และสมมติฐานของการวิจัย หรือไม่
    ๑๓.๓ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลมีความเหมาะสมกับระดับข้อมูล และข้อตกลงเบื้องต้นของวิธีการทางสถิตินั้น ๆ หรือไม่

๑๔. การนำเสนอผลการวิเคราะห์ข้อมูล พิจารณาในเรื่องต่อไปนี้
    ๑๔.๑ มีการนำเสนอข้อมูลด้วยแผนภูมิ กราฟ ตาราง หรือภาพ เพื่อให้การอ่านผลการวิเคราะห์ ข้อมูลเข้าใจได้ง่ายหรือไม่ และมีความเหมาะสมเพียงใด
    ๑๔.๒ การสร้างแผนภูมิ กราฟ ตารางเป็นไปตามหลักเกณฑ์หรือไม่
    ๑๔.๓ มีการให้สัญลักษณ์เกี่ยวกับเส้นต่าง ๆ ในแผนภูมิ กราฟ ตาราง ได้ถูกต้องชัดเจนเพียงใด
    ๑๔.๔ ข้อความที่ใช้อธิบาย แผนภูมิ กราฟ ตาราง มีความชัดเจนและถูกต้องสอดคล้องกับ ผลการวิเคราะห์ที่ได้หรือไม่ เพียงใด
    ๑๔.๕ มีการให้ความหมายของสัญลักษณ์ของค่าสถิติต่าง ๆ ในตารางหรือไม่ และมีความถูกต้องเพียงใด
    ๑๔.๖ มีการแสดงระดับนัยสำคัญทางสถิติของค่าสถิติที่วิเคราะห์ได้ในตารางด้วยหรือไม่
    ๑๔.๗ การแปลความหมายผลการวิเคราะห์สอดคล้องกับวิธีการทางสถิติที่ใช้หรือไม่


๑๕. การอภิปรายผลการวิจัยและข้อเสนอแนะ พิจารณาในเรื่องต่อไปนี้
    ๑๕.๑ ข้อความที่ใช้ในการอภิปรายนั้น เขียนขึ้นโดยอาศัยหลักฐานจากเอกสารและงานวิจัย ที่เกี่ยวข้องที่ได้นำเสนอไว้ในตอนต้น และอาศัยความรู้ และประสบการณ์ของผู้วิจัยตลอดจนข้อสังเกตที่ได้ระหว่างการทำวิจัย เป็นหลักในการอภิปรายผลหรือไม่
    ๑๕.๒ หลักฐานและเหตุผลที่นำมาใช้อ้างอิง สมเหตุสมผลทันสมัยและเกี่ยวข้องกับปัญหาที่ศึกษามากน้อยเพียงใด
    ๑๕.๓ การอภิปรายผลเรียงลำดับเป็นขั้นตอน สอดคล้องกับจุดมุ่งหมายหรือสมมติฐานการวิจัย หรือไม่
    ๑๕.๔ มีการเสนอแนะถึงการนำผลการวิจัยไปใช้แก้ปัญหาในกรณีต่าง ๆ หรือไม่
    ๑๕.๕ มีการเสนอแนะเกี่ยวกับการทำวิจัยในประเด็นต่าง ๆ ต่อไปหรือไม่

๑๖. รูปแบบและแนวการเขียนรายงาน พิจารณาในเรื่องต่อไปนี้
    ๑๖.๑ การจัดเรียงลำดับเนื้อหาถูกต้องและเหมาะสมหรือไม่
    ๑๖.๒ ภาษาที่ใช้มีความกะทัดรัด ชัดเจน และเข้าใจง่ายหรือไม่
    ๑๖.๓ การใช้คำและภาษาในรายงานการวิจัยมี ความคงที่ เสมอต้น เสมอปลาย เพียงใด
    ๑๖.๔ การเว้นวรรคตอน ตัวสะกด การันต์ มีความถูกต้องเพียงใด
    ๑๖.๕ การเขียนบรรณานุกรมมีความถูกต้องหรือไม่
    ๑๖.๖ การจัดทำรูปเล่มมีความเรียบร้อย ปราณีต หรือไม่ เพียงใด